สำนักพระราชวังญี่ปุ่นเผย พระยศใหม่ของพระราชวงศ์ เมื่อเข้าสู่รัชศกเรวะ
รัชศกเรวะ

สำนักพระราชวังญี่ปุ่นเผย พระยศใหม่ของพระราชวงศ์ เมื่อเข้าสู่รัชศกเรวะ

Alternative Textaccount_circle
รัชศกเรวะ
รัชศกเรวะ

สำนักพระราชวังญี่ปุ่นเผย พระยศใหม่ของพระราชวงศ์ เมื่อเข้าสู่รัชศกเรวะ… ตามที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงประกาศสละราชบัลลังก์ ซึ่งจะมีพิธีสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562 โดยเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศชื่อรัชศกใหม่ว่า “เรวะ”  (Reiwa – 令和) ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป

ล่าสุดสำนักพระราชวังของญี่ปุ่นได้เปิดเผยการเปลี่ยนแปลงการออกพระยศใหม่ของสมเด็จพระจักรพรรดิ สมเด็จพระจักรพรรดินี รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ เมื่อมีการเปลี่ยนรัชกาลในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 นี้ ซึ่งทางเพจ Royal World Thailand – รอยัล เวิลด์ ประเทศไทย ได้รับความรู้จากสำนักพระราชวังของญี่ปุ่นเกี่ยวกับการออกพระยศทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ อีกทั้งยังได้รับอนุญาตให้แจงรายละเอียดพระยศของพระบรมวงศ์แต่ละพระองค์เพื่อเป็นความรู้ ดังนี้

รัชศกเรวะ

โดยหลังจากสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะสละราชสมบัติแล้ว ตามพระราชธรรมเนียม จากที่ทรงดำรงพระบรมราชอิสริยยศจากเดิม “เท็นโน (天皇 / Tennō = จักรพรรดิ)” สู่การเป็น “ไดโจ เท็นโน (太上天皇 / Daijō Tennō = อดีตจักรพรรดิ)” หรือแบบลำลองคือ “โจโก (上皇 / Jōkō)” ซึ่งพระองค์สุดท้ายที่ดำรงพระบรมราชอิสริยยศนี้ คือสมเด็จพระจักรพรรดิโคกากุ รัชกาลที่ 119 (ครองราชย์ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1780) ซึ่งทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2360 โดยทรงเป็นพระจักรพรรดิที่สละราชสมบัติพระองค์สุดท้ายจนกระทั่งอีกกว่า 200 ปีต่อมา

สำนักพระราชวังได้แจงการออกพระบรมราชอิสริยยศของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะในภาษาอังกฤษโดยย่อคือ “The Emperor Emeritus” โดยคำว่า “Emeritus – เอเมอริตัส” แปลว่า “อดีต หรือปลดเกษียณ” ซึ่งใช้สำหรับผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งใดๆ ในอดีต ใกล้เคียงกับคำว่า “Former” ซึ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายมากกว่า หรืออีกแง่หนึ่งคือ “The Former Emperor – อดีตพระจักรพรรดิ” นั่นเอง สำหรับในภาษาญี่ปุ่นจะมีออกแบบลำลองคือ “โจโก” (上皇 – Jōkō) หรืออย่างเป็นทางการคือ “โจโกเฮกะ” (上皇陛下 – Jōkōheika: His Majesty The Emperor Emeritus)

สำหรับสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ จะทรงดำรงพระราชอิสริยยศในภาษาอังกฤษ “The Empress Emerita” หรือ “The Former Empress – อดีตพระจักรพรรดินี” ในภาษาญี่ปุ่นคือ “โจโกโง” (上皇后 – Jōkōgō) หรืออย่างเป็นทางการคือ “โจโกโงเฮกะ” (上皇后陛下 – Jōkōheika: Her Majesty The Empress Emerita)

ทั้งนี้ในภาษาไทยจะไม่สามารถออกพระราชอิสริยยศ “สมเด็จพระจักรพรรดินี พระพันปีหลวง” ได้ ซึ่งคำว่า “พระพันปีหลวง” จะใช้สำหรับสมเด็จพระจักรพรรดินีมเหสี (Empress Consort) ที่ทรงหม้ายหลังจากพระบรมราชสวามีเสด็จสวรรคต ซึ่งได้กลายมาเป็น “Empress Dowager” หรือ “Empress Mother” นั่นเอง โดยในราชสำนักญี่ปุ่นมีการออกพระราชอิสริยยศสำหรับสมเด็จพระพันปีหลวงนี้อยู่แล้วคือ “โคไตโง” (皇太后- Kōtaigō) ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดินีนางาโกะ พระราชชนนีในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ทรงเป็นพระองค์สุดท้ายที่ดำรงพระราชอิสริยยศนี้

ดังนั้นในการออกพระบรมราชอิสริยยศและพระปรมาภิไธยอย่างเป็นทางการในภาษาไทย จะยังคงมีการออก “สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ” และ “สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ” ดังเดิม ซึ่งสำนักพระราชวังญี่ปุ่นได้ยกตัวอย่างพระราชวงศ์ต่างประเทศที่มีการออกพระบรมราชอิสริยยศ และพระราชอิสริยยศในแบบเดียวกัน เช่น ภูฏาน เบลเยียม สเปน เป็นต้น โดยเฉพาะในสเปนที่บางครั้งมีการใช้ “El Rey Emérito – The King Emeritus” สำหรับอดีตสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน คาร์โลสที่ 1 ด้วยเช่นกัน

รัชศกเรวะ

สำหรับสมเด็จพระจักรพรรดิรัชกาลใหม่ จะมีการออกพระบรมราชอิสริยยศโดยย่อคือ “เท็นโน” (天皇 – Tennō) หรืออย่างเป็นทางการคือ “เท็นโนเฮกะ” (天皇陛下 – Tennōheika: His Majesty The Emperor) เช่นเดียวกับสมเด็จพระจักรพรรดินีพระองค์ใหม่ จะมีการออกพระราชอิสริยยศโดยย่อคือ “โคโง หรือ โคโงซามะ” (皇后 – Kōgō / 皇后さま – Kōgōsama) หรืออย่างเป็นทางการคือ “โคโงเฮกะ” (皇后陛下- Kōgō heika: Her Majesty The Empress) และมีการออกพระบรมราชอิสริยยศพร้อมกันทั้งสองพระองค์ หรือในภาษาอังกฤษคือ “The Emperor and Empress” ส่วนในภาษาญี่ปุ่นนั้นจะใช้คำว่า “เท็นโน โคโง เรียวเฮกะ” (天皇、皇后両陛下 – Ten’nō, kōgō ryō heika)

รัชศกเรวะ

สำหรับเจ้าฟ้าชายฟุมิฮิโตะ เจ้าชายอากิชิโนะ ซึ่งจะได้เป็นเจ้าชายมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ จะทรงดำรงพระราชอิสริยยศในภาษาญี่ปุ่นคือ “โคชิ” หรือมกุฎราชกุมาร (皇嗣 – Kōshi: Crown Prince) โดยพระยศโคชินี้ต่างจากพระยศ “โคไตชิ” (皇太子 – Kōtaishi) ที่ใช้สำหรับมกุฎราชกุมารซึ่งเป็นพระรัชทายาททางนิตินัย (Heir Apparent) คือเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในรัชกาลปัจจุบัน โดยเจ้าชายอากิชิโนะจะทรงดำรงพระราชอิสริยยศคือ “อากิชิโนะมิยะโคชิเด็งกะ” (秋篠宮皇嗣殿下 – Akishinonomiya kōshi denka: His Imperial Highness Crown Prince Akishino)

เช่นเดียวกับเจ้าหญิงคิโกะ เจ้าหญิงอากิชิโนะ พระชายาในฐานะว่าที่เจ้าหญิงมกุฎราชกุมารี จะทรงดำรงพระราชอิสริยยศคือ “โคชิฮิ” (皇嗣妃 – Kōshihi) หรืออย่างเป็นทางการคือ “อากิชิโนะมิยะโคชิฮิเด็งกะ” (秋篠宮皇嗣妃殿下 – Akishinonomiya kōshihi denka: Her Imperial Highness Crown Princess Akishino) และยังสามารถออกพระนามแบบลำลองคือ “คิโกะซามะ” (紀子さま – Kikosama) หรือเจ้าหญิงคิโกะได้ดังเดิม

การออกพระราชอิสริยยศพร้อมกันทั้งสองพระองค์ เช่นในภาษาอังกฤษคือ “The Crown Prince and Crown Princess” จะมีการออกเป็นภาษาญี่ปุ่นคือ “อากิชิโนะมิยะ โคชิโดฮิเรียวเดงกะ” (秋篠宮皇嗣同妃両殿下 – Akishinonomiya kōshihi denka: Their Imperial Highnesses The Crown Prince and Crown Princess Akishino”)

รัชศกเรวะ

สำหรับพระบรมวงศ์พระองค์อื่นๆ ยังคงดำรงพระยศดังเดิม เช่น เจ้าหญิงไอโกะ เจ้าหญิงโทชิ, เจ้าหญิงมาโกะแห่งอากิชิโนะ, เจ้าหญิงคาโกะแห่งอากิชิโนะ และเจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะ เป็นต้น


 

ข้อมูลและภาพ : Royal World Thailand – รอยัล เวิลด์ ประเทศไทย

Praew Recommend

keyboard_arrow_up